3 ทีมเด็กมนุษย์ฯ คว้ารางวัลสร้างชื่องาน Hackathon ออกแบบเพื่อความยั่งยืน

4 8 9 11 12

ขอแสดงความยินดีกับ 3 ทีมนักศึกษาสาขาการจัดการการท่องเที่ยว นิทรรศการและการประชุม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว รับรางวัลโครงการ Hackathon “การยกระดับศักยภาพชุมชนนักออกแบบเพื่อความยั่งยืน”

 

ขอแสดงความยินดีกับ 3 ทีมนักศึกษาสาขาการจัดการการท่องเที่ยว นิทรรศการและการประชุม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว รับรางวัลโครงการ Hackathon “การยกระดับศักยภาพชุมชนนักออกแบบเพื่อความยั่งยืน” ภายใต้ชื่องาน “ดีไซน์ยั่งยืน พลิกฟื้นชุมชน” เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันศิลปวัฒนธรรมและอารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของยูเนสโก ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีใจรักในการสร้างสรรค์และพัฒนาได้นำเสนอไอเดียในการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอดผ่านการออกแบบที่ทันสมัย เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน โดยผลงานของนักออกแบบที่ได้รับรางวัลได้รับเกียรติให้จัดแสดงในนิทรรศการ ณ หอศิลป์กรุงเทพฯ

รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1ทีม Core Sync พร้อมเงินรางวัล 20,000 บาท

 

สมาชิกทีม 

  • นางสาวณัฏฐณิชา  ฝายทะจักร นักศึกษาสาขาการจัดการการท่องเที่ยว นิทรรศการและการประชุม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยวชั้นปีที่ 3
  • นายชลธาร  รื่นเกษร นักศึกษาสาขาการจัดการการท่องเที่ยว นิทรรศการและการประชุม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยวชั้นปีที่ 3
  • นายวรันธร  มากสวี นักศึกษาสาขาการจัดการการท่องเที่ยว นิทรรศการและการประชุม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยวชั้นปีที่ 2
  • นายณัฐบดินทร์  เส้นทอง นักศึกษาสาขาการจัดการการท่องเที่ยว นิทรรศการและการประชุม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยวชั้นปีที่ 2

 

 

 

“คงวดี” เมื่อผ้าทอพื้นถิ่นสู่กระเป๋าแฟชั่น

ทีม Core Sync ได้รับแรงบันดาลใจจากกระเป๋าย่ามผ้าตาโก้ง จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมทอผ้าด้วยเทคนิคขัดสานด้ายเส้นหลักแบบต่อเนื่อง จนเกิดเป็นลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนตารางสลับสีที่มีความหนาและให้สัมผัสที่นุ่มนวล “พวกเราเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่ผ้าตาโก้งจะเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียง โดยพวกเราได้แปลงโฉมกระเป๋าย่ามแบบดั้งเดิมสู่รูปแบบของ Hobo Bag ที่กำลังเป็นกระแสนิยมในปัจจุบัน พร้อมผสมผสานลวดลายหนังและเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น ภายใต้ชื่อแบรนด์ “คงวดี (Khong Wadi)” ที่พ้องเสียงกับคำว่า “โก้ง” และ “วดี” ที่แปลว่า เจริญรุ่งเรือง”

 

 

 

นวัตกรรม AR ยกระดับประสบการณ์ช้อปปิ้ง

ไม่เพียงแค่การออกแบบผลิตภัณฑ์ ทีม Core Sync ยังได้นำเทคโนโลยี AR มาประยุกต์ใช้ในการนำเสนอสินค้าให้ทันสมัย “พวกเราใช้เทคโนโลยีผสมผสานกับการนำเสนอผลิตภัณฑ์ผ่านการสแกน QR Code ที่แสดงภาพสินค้าแบบ 360 องศาและ 3 มิติ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ชื่นชอบการช้อปปิ้งออนไลน์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้มุ่งหวังว่าการดีไซน์กระเป๋าจากผ้าตาโก้งไม่เพียงเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนเท่านั้น แต่ยังสามารถนำกำไรกลับมาพัฒนาชุมชนได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว”

 

รางวัลความคิดสร้างสรรค์ทีม เนเบอร์ กูดส์ พร้อมเงินรางวัล 5,000 บาท

 

สมาชิกทีม

  • นางสาวอารยา  โรจนเสรีโชค นักศึกษาสาขาการจัดการการท่องเที่ยว นิทรรศการและการประชุม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยวชั้นปีที่ 2
  • นายรพีภัทร์  พุ่มศิริวรรณ นักศึกษาสาขาการจัดการการท่องเที่ยว นิทรรศการและการประชุม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยวชั้นปีที่ 2
  • นายณธีพัฒน์  ฉัฐเมธาสิท นักศึกษาสาขาการจัดการการท่องเที่ยว นิทรรศการและการประชุม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยวชั้นปีที่ 2

 

 

 

One Day Trip แพ็กเกจท่องเที่ยวสุดเอ็กซ์คลูซีฟ

จังหวัดเชียงรายเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทีมเนเบอร์ กูดส์ ได้สร้างสรรค์แพ็กเกจการท่องเที่ยวแบบ One Day Trip ที่รวบรวมประสบการณ์สุดพิเศษไว้ในรูปแบบที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ “ทีมได้ออกแบบแพ็กเกจทัวร์ 2 รูปแบบสุดพิเศษ อย่างแรก เหวี่ยงมามู เอาใจสายมูด้วยการท่องเที่ยวแบบจัดเต็ม ตะลอนทัวร์สักการะวัดชื่อดัง พร้อมลงมือประดิษฐ์เครื่องเบญจสักการะและสะเปาคำนำสุขด้วยตัวเอง เพื่อเสริมดวงชะตา และ Teenage Artเหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่หลงใหลในงานศิลปะ ด้วยประสบการณ์การลงมือแกะสลักตราปั๊มจากวัสดุธรรมชาติ ท่ามกลางบรรยากาศริมแม่น้ำโขงอันสวยงาม”

 

 

 

แรงบันดาลใจจากบ้านฮอมผญ๋า

“หลังจากได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการและค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม เราพบว่าตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจและมีศักยภาพสูงในการรองรับนักท่องเที่ยว บวกกับการได้รับแรงบันดาลใจจากผลิตภัณฑ์ Gift Set ของคุณน้ำหวาน บ้านฮอมผญ๋า ที่ประกอบด้วยหมวก ตราปั๊ม กระเป๋า และแก้วน้ำ จึงเกิดเป็นไอเดียที่อยากพานักท่องเที่ยวโดยเฉพาะวัยรุ่นเจนใหม่ให้ได้สัมผัสประสบการณ์ที่แปลกใหม่และได้เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น”

 

รางวัลแสดงอัตลักษณ์ท้องถิ่นดีเด่นทีม Culture devพร้อมเงินรางวัล 5,000 บาท

 

สมาชิกทีม

  • นายสรศักดิ์  กลับวิลา นักศึกษาสาขาการจัดการการท่องเที่ยว นิทรรศการและการประชุม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยวชั้นปีที่ 3
  • นางสาวพรหมภัสสร  ทองแดง นักศึกษาสาขาการจัดการการท่องเที่ยว นิทรรศการและการประชุม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยวชั้นปีที่ 3
  • นางสาวจิรประภา จูมคำ นักศึกษาสาขาการจัดการการท่องเที่ยว นิทรรศการและการประชุม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยวชั้นปีที่ 2

 

 

 

Podcast ตำนานดอกเสี้ยวขาวและศิลปะเครื่องประดับจากน่าน

ทีม Culture dev ได้เลือกหัวข้อการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ผ่านรูปแบบของ Podcast ซึ่งเป็นสื่อสมัยใหม่ที่เข้าถึงง่าย ผู้ฟังสามารถเลือกรับฟังได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย “ทีมของเราได้เลือกนำเสนอเรื่องราวของเครื่องประดับดอกเสี้ยวขาว งานหัตถศิลป์อันทรงคุณค่าของชุมชนที่มีความงดงามและแฝงไว้ด้วยความเชื่อที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน โดยได้สร้างสรรค์ Podcast ที่ถ่ายทอด Storytelling ของดอกเสี้ยวขาว ดอกไม้ประจำจังหวัดน่าน โดยรวบรวมองค์ความรู้ เล่าถึงความเป็นมา ตำนาน เรื่องราวลี้ลับ ผ่านการเล่าเรื่องที่สนุกสนาน เข้าใจง่าย และสร้างความประทับใจให้กับผู้ฟัง”

 

 

 

พลังของ Storytelling กับการสืบสานวัฒนธรรม

“การเล่าเรื่องคือเครื่องมือทรงพลังทางการตลาดที่สามารถกระตุ้นอารมณ์ แบ่งปันประสบการณ์ ถ่ายทอดแนวความคิด และสร้างความผูกพันระหว่างสินค้ากับผู้บริโภค พวกเราเน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้ Storytelling ในการดึงดูดลูกค้าให้เกิดความประทับใจในเรื่องราว ย่อยองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมที่ซับซ้อนให้เข้าถึงง่าย และกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาสนใจผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน”